วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

     อาหารเสริม หมายถึง ลักษณะอาหารที่แพทย์เสริมให้สำหรับเด็ก หลังจากที่เด็กมีอายุ หลัง 6 เดือน ไปแล้ว เพื่อให้เด็กหัดเคี้ยว หรือได้รับสารอาหารอย่างอื่นนอกเหนือจากนม ยกตัวอย่างเช่น กล้วยบด ก็คืออาหาร เสริมสำหรับเด็ก หรืออาหารเสริมที่ทำจากแอปเปิล เป็นต้น รวมถึงอาหารเสริมสำหรับสตรีมีครรภ์ด้วย ทั้งหมดนั่นก็เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงาน หรือสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการ

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หมายถึง สิ่งที่เรารับประทานเพิ่มเข้าไปนอกเหนือจากอาหารหลัก ที่เรารับประทานปกติ ปัจจุบันเราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก็คือ การนำสารสกัดจากพืชธรรมชาติ สัตว์น้ำทั่วไป สัตว์ทะเล เคมีสังเคราะห์ แร่ธาตุ วิตามินเข้มข้น ฯลฯ ที่อยู่ในรูปคล้าย ยาเม็ด แคปซูล หรือของเหลว ที่มักมีการกล่าวอ้างว่า ช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันโรค ที่สำคัญสามารถทดแทนสารอาหารที่ร่างกายบกพร่องได้ จะเห็นได้ว่าตามความหมาย ดังกล่าว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมิได้มีความหมายในการบริโภคเพื่อ "รักษา" เหมือนยา แต่เพื่อการ "บำรุง" เท่านั้น ดังนั้นการตัดสินใจเลือก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรพิจารณาว่า

          1. มีข้อมูลการศึกษาเพียงพอและมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายได้
          2. พิจารณาขนาดที่ใช้สามารถใช้ได้ในประชาการทั่วไปหรือไม่
          3. มีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ควรติดตามรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงและผลเสียที่มี
          4. คำนึงถึงผลดีว่ามีความคุ้มค่ากับราคาของผลิตภัณฑ์หรือไม่
          5. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา และผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ข้อควรทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยา ดังนั้น จึงไม่สามารถรักษา หรือบรรเทาโรคใดๆ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานภายในร่างกาย หรือ ช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายได้

2. ห้ามมิให้โฆษณาเผยแพร่ในเชิงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
สามารถรักษาหรือบรรเทาโรคใด ๆ

3. ต้องไม่โฆษณาโดยทำให้เข้าใจว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นเพียงอย่างเดียว
จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นได้ แต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะต้องบริโภคอาหารหลักให้ครบส่วน
รวมทั้งการออกกำลังกายและการพักผ่อนที่เหมาะสมด้วย

4. ไม่อนุญาตให้มีการกล่าวอ้างหรือรับรองคุณภาพคุณประโยชน์โดยบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ

5. การโฆษณาโดยการแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารแต่ละชนิด
ที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น สามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง

6. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดมีการแสดงข้อความกล่าวอ้างทางโภชนาการ หรือกระทำการโฆษณา
โดยกล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการเพื่อส่งเสริมการขาย ต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก
เพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย

7. ต้องไม่สื่อความหมายให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก
หรือสามารถใช้ลดน้ำหนักได้

8. การที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับอนุญาตให้จำหน่าย จาก อย.แล้ว
แสดงว่า อย. รับรองเฉพาะสรรพคุณตามที่ขออนุญาต ซึ่งกำหนดให้ระบุบนฉลาก
ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียด บนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง
ฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นต้องแสดงข้อความภาษาไทย ได้แก่

1. ชื่ออาหาร

2. เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย.

3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า (ในผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย)

4. ปริมาณสุทธิ

5. ส่วนประกอบสำคัญ

6. วันเดือนปีที่ผลิต และ วันเดือนปีที่หมดอายุ โดยมีคำว่า ”ผลิต “ และ ”หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วย

7. คำแนะนำในการเก็บรักษา

8. ในกรณีที่มีการเจือสี แต่งกลิ่นรส ใช้วัตถุกันเสีย วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร หรือ
วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ต้องระบุบนฉลากด้วย

ข้อสังเกตก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

    การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนอกจากจะเลือกสารอาหารตามอาการ  ที่เรามี หรือสารอาหารที่เราต้องการ แล้ว  เรายังคงจะต้อง  ตรวจสอบข้อมูลก่อนซื้อเพิ่มเติมอีก  คือ

1. เปรียบเทียบข้อมูลโฆษณาที่ได้รับกับฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างกล่องหรือขวด
ถ้าไม่ตรงกันก็ควรหลีกเลี่ยง หรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจซื้อ

2. สังเกตฉลากเพื่อหาข้อมูลที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรค โดยถ้าพบผลิตภัณฑ์ใดแสดงเครื่อง-หมาย "อย." บนฉลาก แสดงว่าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในรูปของอาหาร
จึงไม่สามารถรักษาโรคใด ๆ ได้
ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาจะไม่มีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก
แต่จะแสดงเป็นเลข-ทะเบียนตำรับยาระบุบนฉลากแทน
ลักษณะของเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงบนฉลาก ตัวอย่างเช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1 A 9999/46 หรือ เลขทะเบียนที่ 1 G 3996/ 44 หรือ Reg.No. 1K 3333/28 เป็นต้น

3. ข้อความโฆษณาต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา ลักษณะของเลขอนุญาตโฆษณา ตัวอย่างเช่น ฆอ.9988/2543 หรือ ฆอ. 10200/2546 เป็นต้น
ซึ่งรวมถึงคำพูดที่ผู้จำหน่ายอธิบายประกอบการขายผลิตภัณฑ์
ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว

เรียบเรียงข้อมูล จาก http://www.oryor.com/