วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หมามุ่ย ไวอากร้า-บำรุงกำลัง พันธุ์ไทย

หมามุ่ย ไวอากร้า-บำรุงกำลัง พันธุ์ไทย

  หมามุ่ย หรือ หมามุ้ย เป็นพืชลุ้มลุกตระกูลถั่ว คนไทยเรารู้จักมานานแล้วในฐานะที่เป็นสิ่งไม่ชวนพิสมัยเท่าใดนัก เพราะคุณสมบัติในด้านลบ คืออาการคันอันเกิดจากการไปสัมผัส ผงหมามุ่ย
แต่ล่าสุด หมามุ่ย กำลังผงาดขึ้นมาสร้างคุณประโยชน์สรรพคุณทางยาที่สำคัญ  หลังจากนักวิจัยไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
สามารถสกัดเอาสารตามธรรมชาติในหมามุ่ยมาผลิตเป็นยาสมุนไพรบำรุง สเปิร์ม และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศให้กับคุณสุภาพบุรุษทั้งหลาย

   'หมามุ่ย' มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Mu cuna pruriens (L.) DC. ชื่อวงศ์ FABA CEAE
มีชื่ออื่นๆ ในภาษาถิ่น คือ กลออื้อแซ โพล่ยู มะเหยือง และหมาเหยือง
   ความสำเร็จในการ นำหมามุ่ยมาวิจัยต่อยอดสร้างยาสมุนไพรเสริมสร้าง 'สุข ภาพทางเพศ' ให้กับบุรุษนั้นแถลงข่าวและเปิดเผยกันอย่างเป็นทางการในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งปีนี้จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด 'ยาไทย เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดี Herb for All'เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม-4 กันยายน 2554 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

   หมามุ่ย เป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทยที่ใช้อย่างแพร่หลายในอดีต
โดยเฉพาะคุณสมบัติบำรุงกำลัง 
    ลักษณะทั่วไปของหมามุ่ย เป็นไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นเล็กเหนียวคล้ายเชือก ดอกออกเป็นช่อห้อยลง สีม่วงแก่ถึงม่วงออกดำ

    ความพิเศษของหมามุ่ย อยู่ตรงขนอ่อนที่ปกคลุม เพราะเป็นขนที่เต็มไปด้วยสาร 'ซีโรโทนิน' (Serotonin) เมื่อโดนจะทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง ซึ่งฝักจะออกมากในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูแล้ง และปลิวตามลม ชาวบ้านทั่วไป เมื่อพบจึงมักทำลายเถ้าหมามุ้ยทิ้ง ที่ผ่านมาตั้งแต่ในอดีตหมอยาแผนโบราณค้นพบวิธีนำหมามุ่ยมาใช้หลากหลายตำรับด้วยกัน
โดยนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ ราก ใบ ฝัก เม็ด เช่น ใช้รากแก้คัน ใช้ถอนพิษ ล้างพิษ เม็ด ใช้ทั้งกินเม็ดคั่ว นึ่ง และบด เป็นผง เพื่อบำรุงกำลัง เพิ่มน้ำเชื้อ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

    ในประเทศอินเดีย พบว่า มีพืชวงศ์เดียวกับหมามุ่ยของไทย ซึ่งปลูกเพื่อนำไปแปรรูปอย่างจริงจัง เพราะมีการศึกษา วิจัย อย่างเป็นระบบ กระทั่งสกัดเป็นยา เพื่อเพิ่มความต้องการทางเพศ คลายเครียด และเพิ่มการเผาผลาญและมวลของกล้ามเนื้อ

     สาเหตุที่หมามุ่ยเป็นที่น่าสนใจอีกประการ เนื่องจากโรคเกี่ยวกับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การมีลูกยาก ถือเป็นโรคที่หลายประเทศมีอัตราการใช้สูงเพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยเราใช้เงินซื้อ 'ยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ' ของตะวันตกไปกว่าร้อยล้านบาท ในขณะที่ทั่วโลกมีอัตราการใช้อยู่ที่ประมาณห้าหมื่นล้านบาท

     จากรายงานทางการแพทย์ มีการทดลองในสัตว์ พบว่าสารธรรมชาติในหมามุ่ย ทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น เพิ่มความถี่ในการผสมพันธุ์ได้เป็นสิบเท่า
รวมทั้งยืดระยะเวลาในการมีเพศสัมพันธŒทำให้ชะลออาการหลั่งเร็วได้ และเพิ่มปริมาณฮอร์โมนทางเพศ

   รายงานการวิจัยที่ทำในผู้ชายอินเดีย 75 คน ซึ่งประสบปัญหาการมีบุตรยาก เนื่องจากความเครียด พบว่า
หลังจากให้เม็ดหมามุ่ยทานในปริมาณ 5 กรัมต่อวันนาน 3 เดือน ระดับความ เครียดลดลง และคุณภาพปริมาณของ 'อสุจิ-น้ำเชื้อ' เพิ่มขึ้น

   จากการวิจัย พบว่า เม็ดหมามุ่ย มีสารแอลโดปา (L-Dopa ) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์โดพามีน (Dopamine) หรือสารที่มีอิทธิพลสูงต่อระบบสืบพันธุ์ อีกทั้งยังเป็นสารสื่อประสาท ซึ่งใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันอีกด้วย แต่ต้องใช้ในรูปแบบของการผ่านวิธีการ 'สกัด' มาเป็น 'ยาเม็ด' เพราะร่างกายไม่สามารถได้รับสารในรูปแบบของเมล็ดแปรรูป หรือสดได้
    ประชาชนทั่วไปก็สามารถนำเม็ดหมามุ่ยมาเป็นยาสมุนไพรทานเองได้ แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่บ้าง เพราะการเก็บหมามุ่ย ต้องรู้วิธีเพื่อไม่ให้คัน วิธีการเก็บ คือ เลือกจากต้นที่ฝักแก่ สังเกตง่ายๆ คือ เม็ดฝักเหมือนจะปริแตก แล้วฉีดน้ำให้เปียก เพื่อป้องกันขนอ่อนที่ฝักฟุ้งกระจาย สวมถุงมือป้องกันแล้วเก็บเม็ดมาคั่วไฟ แล้วนำไปล้างน้ำ ก่อนนำไปคั่วไฟอีกรอบ

    สําหรับข้อควรระวังในการทานเม็ดหมามุ่ย คือ ต้องคั่วให้สุก เพราะหากไม่สุก จะเกิด 'สารพิษ' บางอย่างขึ้นทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้ เพราะในเม็ดหมามุ่ยมีสารแอลโดปา ที่จะทำให้สารสื่อประสาทเกิดความไม่สมดุลได้

    นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยบางโรคที่ไม่ควรกิน เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่ต้องใช้ยาทางจิตเวช รวมทั้งเด็ก และหญิงตั้งครรภ์  ส่วนปริมาณที่แนะนำ ถ้าเป็นคนทั่วไป ไม่ได้มีปัญหาการมีบุตรยาก หรือสมรรถภาพทางเพศ แนะนำให้กินวันละประมาณ 3 เม็ดต่อวัน จะทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่หากมีปัญหา แนะนำให้กินวันละ 5 กรัม หรือ 25 เม็ด ไม่เกิน 3 เดือน

   การทานเม็ดหมามุ่ยก็มีหลายวิธี
     ทั้งการป่นเป็นผง และกินผสมกับกาแฟ หรือชา ก็ไม่เสียรสแต่อย่างใด
     หรือจะชงกินกับน้ำร้อนเปล่าๆ ก็จะออกรสเปรี้ยวนิด มันหน่อยๆ
     หรือกินเม็ดคั่วกับข้าวเหนียว หรือเคี้ยวเม็ดที่คั่วแล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน

   หากทำวิจัยอย่างครบวงจร และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเพื่อนำมาต่อยอด จะสามารถฉวยให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจได้ เพราะปัจจุบันแม้แต่อินเดีย ที่วิจัยในเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผลิตออกขายเชิงอุตสาหกรรมประเทศไทยจึงถือว่ามีโอกาสที่จะเร่งพัฒนายาสมุนไพรตัวนี้ได้
     กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมูลนิธิ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาสมุนไพรหมามุ่ยให้เป็นที่ยอมรับในทางวิทยาศาสตร์และคลินิก เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยอาจทำเป็น 2 รูปแบบ คือ ยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และมั่นใจว่าจะนำพืชหมามุ่ยมาต่อ ยอดเศรษฐกิจในเชิงอุตสาหกรรมได้
ที่มา:http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNak13TURnMU5B