วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กาแฟ มีผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือ ?

 กาแฟ มีผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือ
กาแฟ (Coffee)
    กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันมากว่า 100 ปี การดื่มกาแฟไม่ดีกับสุขภาพจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่หลายๆคนพยายามหาคำตอบของเรื่องนี้มานาน โรงพยาบาลบางแห่งที่มีโครงการ HPH ถึงกับมีนโยบายงดดื่มกาแฟในโรงพยาบาลเลยทีเดียว
    เมื่อกล่าวถึงผลจากการดื่มกาแฟ ดูจะเป็นการพูดถึงผลของคาเฟอีนไปโดยปริยาย ทั้งที่คาเฟอีนเป็นอัลคาลอยด์ที่พบในพืชกว่า 60 ชนิด ในเครื่องดื่มประเภทโคลา ในเครื่องดื่มประเภทชาและขนมช็อกโกแลตก็มีคาเฟอีนในปริมาณหนึ่ง

     งานวิจัยเกี่ยวกับผลของคาเฟอีน มีมากมายในห้วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นับแต่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับรองในปี พ.ศ. 2501 ว่าคาเฟอีนเป็นอาหารกลุ่มค่อนข้างปลอดภัย แม้ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องผลดีผลเสียของสารคาเฟอีนต่อสุขภาพ แต่ โดยรวมมีความเห็นร่วมกันว่าไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพ หากดื่มกาแฟไม่เกินระดับปกติ คือ ประมาณ 300 มก/วัน หรือเท่ากับกาแฟถ้วยมาตรฐาน 8 ออนซ์ 3 ถ้วยหรือชาชง 6 ถ้วยต่อวัน ทุกวันนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับคาเฟอีนใหม่ๆ ออกมาเพื่อเป็นประโยชน์ในการหาข้อมูลผู้ป่วยรวมทั้งหาความจริงในความเชื่อที่ถกเถียงกัน

     ความรู้ทางเภสัชวิทยาเกี่ยวกับคาเฟอีน
     คาเฟอีน หรือ 1,3,7 trimethyI-xanthine มีคุณสมบัติถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 45 นาที หลังดื่มและระดับคาเฟอีนในเลือดเริ่มขึ้นตั้งแต่ 15-120 นาทีหลังดื่ม คาเฟอีนถูกขจัดออกจากเลือดโดยขับออกทางปัสสาวะเป็นหลัก ระยะเวลาที่ใช้ในการขจัดสำหรับคนหนุ่มสาวประมาณ 2.5-4.5 ชั่วโมง แต่ในคนชราและเด็กเล็กอาจมีนานถึง 80-100 ชั่วโมง เลยทีเดียว ในขณะที่ผู้สูบบุหรี่ผู้ที่กินยาคุมกำเนิดกลับทำให้คาเฟอีนในเลือดถูกขจัดเร็วขึ้น นอกจากนี้กระบวนการทางเคมีของคาเฟอีนมีความจำเพาะต่อเผ่าพันธุ์หรือลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ดังนั้นการศึกษาผลของคาเฟอีนในสัตว์ทดลองจึงนำมาใช้อธิบายผลในมนุษย์ไม่ดีนัก

เชื่อว่า ผลของคาเฟอีนต่อร่างกาย ออกฤทธิ์ยับยั้ง adenosine receptor การที่แต่ละคนมีปฏิกิริยาไวต่อคาเฟอีนแตกต่างกันเชื่อว่าเป็นผลจากจำนวนและลักษณะของ adenosine receptor มากกว่าความแตกต่างในเรื่องการดูดซึมหรือกำจัดคาเฟอีนจากกระแสเลือด เชื่อว่าการยับยั้ง A2a receptor ลดการหลั่ง GABA จึงออกฤทธิ์ตรงข้ามกับยาคลายกังวล (anxiolytic drugs) กลุ่ม benzodiazepine หรืออาจช่วยการทำงานของ dopaminergic neuron นอกจากนี้ กลไกการออกฤทธิ์อื่นที่เป็นไปได้คือ การเพิ่มระดับสาร cathecholamine ในกระแสเลือด
ที่มา: โดย วารสารคลินิก ปีที่ 21 ฉบับที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2548 หน้า 1027-1033.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น