วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผักติ้ว กับคุณประโยชน์และการรักษามะเร็ง

ผักติ้ว กับคุณประโยชน์และการรักษามะเร็ง
          ผักสีสวย แดง ๆ ส้ม ๆ เขียวอ่อน ใครจะคิดว่าจะมีคุณประโยชน์เหลือหลาย มากกว่าแค่นำมาทานเป็นผักเครื่องเคียงอาหาร อย่างผักใบสวยชนิดหนึ่ง ที่คนใต้นิยมเอามาทานกับขนมจีน
          ผักติ้ว เป็นไม้ยืนต้น สูง 8-15 เมตร ลำต้นมียางสีเหลือง ใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนเกือบมน ผิวใบมีขนทั้ง 2 ด้าน จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า "ติ้วขน" ผักติ้วจะมียอดอ่อนเป็นสีแดง รสฝาดปนเปรี้ยว เมื่อใบแก่เป็นสีเขียวสด
          ส่วนดอกเป็นสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งก้านเหนือรอยแผลใบ และก้มีผลกลม ๆ เมื่อผลแก่ แตกอ้า ภายในมีเมล็ดรูปไข่ หรือรูปกระสวย พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศไทย
          ผักติ้ว บางคนก็เรียกว่า ผักแต้ว แล้วก็มีอีกหลาย ๆ ชื่อ เช่น ติ้วขน ติ้วส้ม แต้วหอม หรือแต้วหิน คนส่วนใหญ่นิยมจะนำใบนำมากินเป็นผัก ให้รสเปรี้ยว ปนฝาด ทั้งกินกับพริก ลาบ หรือแหนมเนือง ใส่แดงเลียง แกงส้ม หรือต้มยำ
          คุณประโยชน์ของผักติ้วนั้นก็เหลือหลาย ทั้งเป็นอาหาร เป็นวัสดุทำอุปกรณ์ เป็นยาดี และที่สำคัญมีคนบอกว่ารักษามะเร็งได้ด้วย แต่จะจริงหรือไม่ เรามีคำตอบ

      ผักติ้ว
ภาพจาก emaginfo

คุณประโยชน์จากผักติ้ว
          อย่างที่บอกไปว่าผักติ้วนั้นมีคุณประโยชน์สารพัด ทีนี้เรามาดูกันสิว่า จะมีอะไรกันบ้าง
           1. ในผักติ้วหนัก 100 กรัม จะมีเส้นใยอาหารอยู่ 1.4 กรัมช่วยป้องกันอาการท้องผูก มีแคลเซียม 67 มิลลิกรัม ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน มีไนอะซิน 3.1 มิลลิกรัม มีบทบาทต่อกระบวนการเผาผลาญสารอาหารและการทำงานของระบบประสาท วิตามินซี 56 มิลลิกรัม ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กและช่วยให้แผลหายเร็ว ผักติ้วยังมีเบตาแคโรทีนและวิตามินเออยู่สูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและบำรุงสายตา
           2. ยอดอ่อน นิยมรับประทานเป็นผักเคียงกับ ลาบ ก้อย น้ำตก แหนมเนืองเวียดนาม ตามที่กล่าวข้างต้น ส่วนภาคใต้รับประทานกับขนมจีนใต้รสชาติ อร่อยมาก
           3. ดอกผักติ้ว มีสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ นำมากินเป็นผักได้เช่นเดียวกับยอดและใบอ่อน ไม้จากต้นผักติ้วก็ยังมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะเนื้อไม้แข็ง จึงใช้ทำเสา ด้ามจอบเสียม หรือเผามาทำฟืน
          4. ราก ผสมกับหัวแห้วหมู และรากปลาไหลเผือกต้มน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด ประโยชน์ทางอาหาร ส่วนสรรพคุณทางยาไทยนั้น ใช้รากผสมกับหัวแห้วหมูและรากปลาไหลเผือก ต้มเอาเฉพาะน้ำ ดื่มวันละ 3 มื้อ เพื่อขับปัสสาวะและแก้ปัสสาวะขัด รากและใบต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง เปลือกต้นและใบตำผสมน้ำมันมะพร้าวทาแก้โรคผิวหนัง แม้แต่น้ำยางจากเปลือกต้นก็ใช้ทาแก้คันได้
          5. สารสกัดจากผักติ้ว ในงานวิจัยของนิสิตโครงการปริญญาเอก กาญจนาภิเษก (คปก.) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า สารสกัดจาก "ผักติ้ว" สามารถนำไปใช้ในการยับยั้งกลิ่นหืนในอาหารได้ โดยเอายอดอ่อนของ "ผักติ้ว" ที่คนอีสานนิยมรับประทานเป็นผักเคียงกับลาบ ก้อย และแหนมเนืองเวียดนาม ไปเข้ากระบวนการสกัดผสมกับ "เอทานอล" และขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนจะได้สารจาก "ผักติ้ว" ชื่อ "คอลโรจินิกแอซิก" นำไปใช้เป็นสารสกัดธรรมชาติป้องกันกลิ่นหืนของอาหารดีมาก

ดอกผักติ้ว




 ผักติ้วกับการรักษามะเร็ง

          มีการวิจัยเกี่ยวกับผักติ้วว่า ผักติ้วนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ชื่อว่า กรดคลอโรเจนนิคสูง เมื่อเทียบกับสารโพลีฟีนอลทั้งหมด โดยกรดคลอโรเจนนิคนี้เป็นสารที่ป้องกันการทำลายดีเอ็นเอได้ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า "ผักติ้ว" ยังมีฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญของของเซลล์มะเร็งตับได้ โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติด้วย แต่ทั้งนี้ สารดังกล่าว ไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งตับ (HepG2 / cells) ได้

   ผักติ้วนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการนานาประการ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิด และอายุของยอดใบอ่อนหรือใบแก่
คุณค่าทางโภชนาการของผักติ้ว (ยอดอ่อน,ใบอ่อน,ดอก) ต่อ 100 กรัม
พลังงาน 58 กิโลแคลอรี่
น้ำ 85.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม
เถ้า 0.6 กรัม
โปรตีน 2.4 กรัม
ไขมัน 1.7 กรัม
เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม
วิตามินเอ 7,500 หน่วยสากล
วิตามินบี2 0.67 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม
วิตามินซี 56 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 67 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 2.5 มิลลิกรัม

ผักติ้วนอกจากจะมีส่วนประกอบทางเคมีแล้ว ผักติ้วก็มีกรดคลอโรเจนนิคที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และอุดมด้วยวิตามิน บี ซี เค แร่ธาตุต่าง ๆ เส้นใย เช่นเดียวกับผักอื่น ๆ

          ผักทุกชนิดจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่คล้าย ๆ กัน ดังนั้นเวลาที่เราจะทานผักแล้ว เราไม่ควรจะทานแค่ผักอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการทานซ้ำอยู่อย่างเดียว ก็อาจทำให้เราได้รับสารอาหารนั้นต่อสุขภาพมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้

        ผลการทดลองในเบื้องต้นจากพบว่าใบติ้วมีฤทธิ์ต้านมะเร็งตับ แต่การวิจัยยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการที่จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้วิจัยจะต้องทำการทดลองเพื่อหาสารสำคัญในผักติ้ว และศึกษากลไกที่ชัดเจนของพืช ทำให้ในเบื้องต้นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ใบติ้วกินแล้วดี มีประโยชน์ สามารถต้านมะเร็งตับได้ ส่วนด้านการรักษานั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองให้แน่ชัด
     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการวิจัยจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่อย่างน้อยก็พบว่า ผักติ้วที่ชาวบ้านนิยมบริโภค นำมาเป็นเครื่องเคียงในอาหารประเภทลาบก้อย หรือแหนมเนือง มีสรรพคุณในการยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษา วิจัยและทดลองว่า ผักติ้วซึ่งมีรสชาดคล้ายๆ กับใบกระโดนที่มีสารที่ทำให้เกิดโรคนิ่วได้จะมีสารที่ก่อให้เกิดโรคนิ่วหรือไม่ ซึ่งจะต้องมาสกัดเป็นสารบริสุทธิ์และนำไปทดลองต่อไป นอกจากนี้แล้ว ยังได้นำสารสกัดหยาบจากใบติ้วไปเลี้ยงกับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือด เซลล์ไต เซลล์มะเร็งเต้านมต่อไป ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เพื่อยับยั้งและป้องกันโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งได้
ขอบคุณ:http://health.kapook.com/,http://www.oknation.net/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น